วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พร้อมเพย์ (Prompt Pay) คืออะไร และ จะผูกบัตรประชาชน กับบัญชีไหนดี?

               พร้อมเพย์ (Prompt Pay)  ถือเป็นส่วนหนึ่ง จากผลการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ของรัฐบาล ที่จะเพิ่มความสะดวกในการใช้จ่าย ของคนไทย ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และลดการใช้จ่ายเงินสด ซึ่งมีข้อดีต่อประเทศหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องความสะดวก รวดเร็ว และค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง สำหรับคนทั่วไป และสำหรับภาครัฐ เช่น ลดต้นทุนในการบริหารเงิน การตีพิมพ์เงินธนบัตร และการเก็บรักษาหรือกระจายเงิน รวมถึงการเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวของเงินต่างๆ เป็นต้น

                หลักๆ คือ พร้อมเพย์ คือ ช่องทางการแลกเปลี่ยน (หรือโอนเงิน) ระหว่างบุคคล ต่อบุคคล หรือ ระหว่างบุคคลต่อภาครัฐ (และน่าจะระหว่าง นิติบุคคลด้วย แต่ ณ. ปัจจุบันที่เขียนบทความ (24/06/2559) ยังไม่มีประกาศรูปแบบทีชัดเจน) ตัวอย่าง ของ ภาครัฐ กับ บุคคล ก็เช่น จากเดิม เมื่อเรายื่นขอคืนภาษี กรมสรรพากร จะตีเช็ค ส่งไปรษณีย์ ให้เรา ซึ่งก็มีค่าใช้จ่าย ทั้งตัวเช็ค ค่าไปรษณีย์ รวมถึงเสียเวลาในการส่ง ก็จะเปลี่ยนมาเป็น กรมสรรพากร จะโอนเงินเข้า บัญชี ที่เราเลือกผู้เลขที่บัตรประชาชนไว้ให้ผ่านช่องทางพร้อมเพย์ (ในทางกลับกัน หากต้องชำระเพิ่ม เราก็ชำระผ่านช่องทางพร้อมเพย์ ได้เช่นกัน)


                ส่วนระหว่างบุคคลธรรมดา กับบุคคลธรรมดา ก็เช่น เราเดินไปตลาดนัด ซื้อหมูปิ้ง 5 ไม้ พร้อมข้าวเหนียว รวม 55 บาท แทนที่จะหยิบกระเป๋าสตางค์ขึ้นมา เราก็ยกโทรศัพท์ (Smartphone) เปิดแอปพลิเคชัน (Application) ขึ้นมา เลือกโอนเงินให้กับบัญชีแม่ค้าหมูปิ้ง ซึ่งอาจจะใช้บัญชีที่อ้างอิงกับหมายเลขประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์ก็ได้

                มองดูจะพบว่าสะดวก และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม (ในกรณีที่ไม่เกิน 5,000 บาท ตามข้อมูล ณ. วันที่เขียนบทความ) และจะเปลี่ยนโลกในการใช้จ่ายของคนไทยเราไปเลย

                ซึ่งจะเปลี่ยนโลกการใช้จ่ายได้ขนาดไหน สามารถทำให้คนนิยมได้ไหม ก็คงต้องใช้ระยะเวลาซักพักในการปรับเปลี่ยน และให้ความยอมรับกันต่อไป

                ทั้งนี้โดยความคิดเห็นของผม ที่เขียนบทความ คิดว่าเป็นโอกาส อันดีที่จะให้คนไทยเรา รู้จักแยกบัญชีใช้จ่าย กับเก็บออม เช่น เดิม ใช้งานบัญชีเดียว เลขบัญชี 111 (สำหรับรับเงินเดือน) กับธนาคาร A พอจะลงทะเบียนผูกเลขบัตรประชาชน กับบัญชี ก็เปิดบัญชี 222 (สำหรับใช้จ่าย) กับธนาคาร A ผูกไว้ เราก็จะสามารถโอนเงินระหว่างบัญชี ธนาคารของเราเองได้ฟรีอยู่แล้ว หากเราได้รับเงินมาจากภาครัฐ ก็จะลงในบัญชี 222 หรือ หากเราจะกำหนดว่าแต่ละเดือน แต่ละอาทิตย์ หรือแต่ละวัน จะมีงบใช้จ่ายเท่าไร ก็โอนจากบัญชี 111 มาไว้ที่ บัญชี 222 ได้ตลอดเวลา

                เวลาทำรายการ พร้อมเพย์ ก็จะเกิดการเคลื่อนไหว ในเฉพาะบัญชี 222 ส่วนยอดรายได้หรือเงินออม เงินเก็บ ก็จะอยู่ในบัญชีที่ 111 ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถแยกแยะ และป้องกันความผิดพลาดในการใช้จ่ายผ่านช่องทางพร้อมเพย์ได้
โลกการเงินของคนไทยกำลังจะเปลี่ยนครับ หัดเดินการเงินไปด้วยกันครับ

                หมายเหตุ การผูกบัญชีบัตรประชาชน นั้นจะผูกได้กับบัญชีเดียวเท่านั้น ดังนั้นความเห็นส่วนตัว ควรจะเป็นบัญชีที่เราสะดวกครับ และในมุมธนาคารเอง ก็น่าจะมีความต้องการให้เราไปผูกเลขที่บัตรเรากับเค้าครับ ดังนั้นไม่น่าจะต้องรีบผูก และรอดูเงื่อนไขจากธนาคารที่เราสะดวกกันอีกทีก็ดีครับ



วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คลิปเสียง จากงาน สัมมนา "รวยง่ายๆ สไตล์ มนุษย์เงินเดือน กับ MBA Finance and Banking"

คลิปเสียง สัมภาษณ์ The Money Coach (จักรพงษ์ เมษพันธ์ุ) จากงาน สัมมนา "รวยง่ายๆ สไตล์ มนุษย์เงินเดือน กับ MBA Finance and Banking" ในวันที่ 11 มิถุนายน 2559 ณ หอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เวลา 8.30-12.00

ส่วนที่หนึ่ง ช่วง สัมภาษณ์



ส่วนที่สอง ช่วง ถาม-ตอบ


หัดเดินการเงิน

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ออมเพื่ออะไร แล้วออมเท่าไร ถึงจะพอ

                เชื่อว่าทุกคนมีความคิดดีๆ ให้ชีวิตกันอยู่แล้ว ว่าต้องรู้จักอดออมนะ (เอาจริงๆ ออมเฉยๆ ก็พอ ไม่ถึงกับต้อง อด หรอก) แต่หลายๆ คน ออมไม่สำเร็จซักที เพราะพอเริ่มออมแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะต้องออมไปถึงเมื่อไร แล้วออมไปทำไม ออมไป ออมมา เดินๆ ไปเจอของถูกใจ ลดราคา ก็รู้ขึ้นมาทันทีว่าออมไว้ทำไม ว่าแล้วก็เอาเงินที่ออมมาใช้ซะ (ชีวิตของเรา ใช้ซะ!)



                เอาจริงๆ ใครตอบไม่ได้บ้างว่าออมไปทำไม ต้องออมเท่าไรถึงจะพอ ยิ่งทุกวันนี้ ในยุค social network ไอ้เราออมเงิน เก็บเงิน เปิดคอมมา ยกมือถือขึ้นมา ก็เห็นรูปเพื่อนๆ คนรู้จัก กินสตาร์บัค เที่ยวฮิบๆ หิ้วกระเป๋าหรูๆ ขับรถเท่ๆ กันเต็มไปหมด บางคนไปพัก pool villa ก็อยากไป บางคนกินอะไรก็ไม่รู้ น่ากินเหลือเกิน (ทำเราหิวไปด้วย.. ว่าแล้วก็ ต้มมาม่าซะ) ทำไมคนอื่นเค้าไม่เห็นจะต้องเก็บเงินเหมือนเราเลย เฮ้อ! โลกนี้มันน่าอยู่ น่ากิน น่าใช้จ่ายซะจริงๆ

                นั้นละครับ ปัญหา คือ เราไม่รู้ว่าจะออมไปทำไม เมื่อไม่รู้ ก็เลยไม่ได้คิดอีกว่า ออมแล้ว จะทำอย่างไรกับเงินออม มันก็เลยกลายเป็นว่า ออมอย่างไรก็ไม่พอ (หรือ บางคนบอก แค่ใช้ก็ไม่พอจะออมแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่)

                แล้วเราออมไปทำไมละครับ ผมขอยก เหตุผลการออม ที่ควรจะมีให้ดังนี้ครับ
1.       ออมไว้ สำหรับเหตุฉุกเฉิน
เราไม่รู้หรอกครับ ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เจ็บป่วยหนัก ทั้งตัวเรา ครอบครัว รายได้หายไป ทั้งจาก ตัวเราเอง หรือ แหล่งงานที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีเงินออมอยู่เลย แล้วจะเอาเงินที่ไหนใช้ครับ
2.       ออมไว้ สำหรับเพิ่มความมั่นคงให้ชีวิตในปัจจุบัน
จากข้อ 1. ถ้าเรามีเงินออม แล้วนำเงินนั้น เก็บเป็นสำรองไว้ได้ อย่างน้อยเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย 6 เดือน หากตกงาน หรือ งานมีการเปลี่ยนแปลง ก็มีเวลาคิดหา อย่างน้อย 6 เดือน หรือหากสามารถนำเงินนี้ไปลงทุน ให้เกิดรายได้ ก็ทำให้มีรายได้หลายช่องทาง ช่วยพยุงชีวิตไปได้นะ
3.       ออมไว้ สำหรับ สำหรับชีวิตหลังเกษียณ
วันนี้ยังทำงานได้ มีรายได้ แล้วเมื่อวันที่เราอายุมากขึ้น ถึงวัยเกษียณละ จะหารายได้จากไหน คนทำงานราชการ อาจจะบอกได้ว่ามีบำนาญ แต่คนทำมาค้าขาย ทำงานเอกชนละ ทำอย่างไรดี ต้องออมเก็บเงินไว้ไหม ไว้มากเท่าไร จึงจะพอ
4.       ออมไว้ ลงทุน เพื่อให้มีอิสรภาพทางการเงิน
ถ้าเงินออม มันสามารถหารายได้ให้เราได้ละ และถ้ามันหาให้ได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายเรา เราก็จะเลือกได้ใช่ไหม ว่าจะแต่ละวัน จะอะไรบ้าง ทำงานที่อยากทำ แล้วก็โพสเท่ๆ ได้ว่า มีอิสระภาพทางการเงิน

                ใช่ครับ จริงๆ ควรทำทุกข้อเลยครับ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ตามลำดับที่ผมเรียงไว้ คือ อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องมีข้อที่ 1 มีข้อแรกแล้ว ก็ควรมีข้อสอง ข้อสาม ต่อมาเรื่อยๆ ถ้าไหว (ก็ไหวซิ ไมจะไม่ไหวละ) ทำจนไปถึงข้อสุดท้ายไปด้วยเลย

                มีเป้าหมายแล้วใช่ไหมครับ เพียงแต่การออมอย่างเดียว จริงๆ ทำได้แค่ข้อ 1 เท่านั้นเองครับ ส่วนข้ออื่นๆ ต้องอาศัยความรู้ทางการเงินเข้ามาช่วย ซึ่งก็ไม่ได้ยากเลย เพียงแต่คุณต้องเริ่มเท่านั้นเอง หัดเดินไปด้วยกันครับ


วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เก็บเงินวันละ 40 บาท ก็มีเงินล้านได้จริงไหม?

อยากมีเงินล้าน! ใครอยากมีบ้างกด Like ใครไม่อยากมีกด share ส่งต่อให้คนที่อยากมีกันนะครับ เพราะบทความนี้ ไม่ได้ชวนคุณมาขายตรง ไม่ได้ชวนคุณขายของบนเน็ท หรือทำงานอะไรต่างๆ เลย นอกจากจะชวนคุณให้ย้อนกลับไปเป็นเด็ก เก็บเงินหยอดกระปุกวันละ 40 บาท อย่างมีวินัย รู้จักเลือกที่เก็บ และที่สำคัญที่สุดคือ เริ่มเก็บเงิน
อยากให้ผู้อ่านลองดูตารางข้างล่างนี้ครับ เป็นตารางแสดงยอดเงินออมและผลตอบแทนทบต้น เป็นเวลา 35 ปี



สมมุติ ถ้าผู้อ่านเพิ่งเรียนจบ เริ่มทำงานมีรายได้เมื่ออายุครบ 25 ปี แล้วเริ่มเก็บเงินวันละ 40 บาท ก็น่าจะมีเวลาทำงานจนถึงอายุ 60 ปี เป็นเวลา 35 ปี จากตารางจะเห็นว่า หากคุณสามารถเก็บเงินอย่างมีวินัยสม่ำเสมอ เริ่มได้เร็ว และรู้จักนำเงินไปทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดี เช่น 4% คุณก็มีเงินล้านได้ ตอนอายุ 60 ปี หรือ หากคุณหาผลตอบแทนได้ถึง 12% นอกจากจะมีเงินล้านได้ตั้งแต่เก็บเงินครบ 20 ปีแล้ว เมื่อคุณอายุ 60 เงินที่คุณเก็บออมสะสมเองเพียง 5 แสนนั้น จะมีมูลค่ามากถึง 6 ล้าน หรือเป็น 12 เท่าของเงินต้น
แต่กลับกันถึงจะเก็บเงินอย่างมีวินัย ทุกวัน วันละ 40 บาท ไว้ในบัญชีออมทรัพย์ (ที่ไม่รู้ดอกเบี้ยจะเหลือ 0% เมื่อไร) ทำแบบนี้อยู่ตลอด 35 ปี ก็มีเงินเพียงประมาณ 550,000 บาท เพิ่มขึ้นเพียง 50,000 บาทเท่านั้น

                อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายท่านอาจจะรู้สึกว่า บ้าเปล่า ดอกเบี้ยเงินฝากก็มีแต่ลดลง ล่าสุดบทความที่แล้วก็เพิ่งบอกไปว่าจะเป็น 0% แล้วจะไปหาผลตอบแทน 12% อย่างในตารางได้ไง ก็อยากได้ไหมละครับ ถ้าอยากได้ก็ต้องหากันละครับ ส่วนหาอย่างไร มีหลายวิธี ขอให้เริ่มหาก็แล้วกันครับ แล้วยังไงจะค่อยๆ เขียน แต่ที่สำคัญ ถึงจะมีวิธี แต่ไม่มีเงินเก็บก็ทำอะไรไม่ได้ครับ ดังนั้น เริ่มเก็บ และเริ่มศึกษา หัดเดินทางการเงินไปพร้อมๆ กันเลยครับ

หัดเดินการเงิน

วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ต้องตกใจไหม กับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 0%

    เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2559 ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ทางการเงินของไทย เกือบจะเกิดขึ้น เมื่อธนาคารทหารไทย ในยุคที่ทหารไทย บริหารประเทศอยู่ ปรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ใหม่ ลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารเหลือ 0% หรือ เอาเงินไปฝากแล้วไม่ได้ดอกเบี้ยเลย เพียงแต่ปรับเปลี่ยนได้ไม่ทันข้ามวัน ก็ต้องประกาศกลับมาให้ดอกเบี้ยเท่าเดิมไปก่อน เนื่องจากมีกระแสตอบรับ ที่แสดงให้เห็นว่า คนไทย ยังไม่พร้อมสำหรับดอกเบี้ยเงินฝาก 0%


                แล้วเอาไงกันดีครับ ก่อนหน้านี้หลายๆ คนก็คงเคยได้ยินข่าวจากต่างประเทศมาบ้าง ที่ดอกเบี้ยเงินฝากไม่ใช่แค่ 0% แต่เป็นติดลบ หรือเอาเงินฝากไว้กับธนาคาร ไม่ใช่ไม่ได้ดอกเบี้ย แต่กลายเป็นต้องเสียดอกเบี้ยให้ธนาคาร โอ้! บริษัทตู้เซฟ หรือ ร้านผลิตตุ่ม โอ่ง ราชบุรี คงมียอดขายพุ่งขึ้นแน่ เราคงต้องเอาเงินฝังไห ฝังตุ่มกันแทน จะไปฝากไว้กับธนาคารกันแล้ว
                ย้อนกลับไปดูกันนิดครับ ว่าก่อนจะลดเหลือ 0% นั้น ดอกเบี้ยเท่าไร สำหรับคนที่ฝากเงินกับธนาคารทหารไทย บัญชีออมทรัพย์ปกตินั้น เดิมก่อนประกาศลด ดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.125% หรือ สมมุติคุณมีเงินฝาก
เงินฝาก (บาท)
ดอกเบี้ยต่อปี (บาท)
10,000
12.5
100,000
125
1,000,000
1,250

                ท่านผู้อ่านมีเงินในบัญชีออมทรัพย์เฉลี่ยต่อปี ถึงแสนไหมครับ ผมว่าหลักหมื่นก็เยอะแล้วนะ หากถึงแสน ขอให้รออ่านบทความอื่นๆ ต่อไป แต่บอกสั้นๆ ณ. ตอนนี้ว่า ปัจจุบัน โลกของธนาคารเปลี่ยนไปมากแล้วครับ มีบัญชีหลายประเภทมาก และเราๆ ท่านๆ ก็ควรจะมีบัญชีหลายประเภท ตามลักษณะการใช้งาน บัญชีออมทรัพย์ในปัจจุบัน ธนาคารไม่ได้มองว่าไว้เก็บเงินครับ แต่ไว้ใช้จ่าย ดังนั้นหากต้องการเก็บเงินให้งอกเงย ต้องโอนเงินไปใช้บัญชีประเภทอื่น หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ แทนครับ
                ย้อนกลับมาดูตามตาราง จะเห็นว่า ดอกเบี้ยเดิม ถ้ามีเงินฝากเฉลี่ย 10,000 บาท ได้ดอกเบี้ยอยู่ 12.5 บาท ครับ ไม่ผิดครับ 12.5 บาท หรือถึงคุณมีเงินถึง 1 ล้าน ทิ้งไว้ทั้งปี ก็ได้ดอกเบี้ยเพียง 1 พันกว่าบาทเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ช่วยให้ชีวิตคุณดีขึ้นอะไรเลย ไม่ต่างจากดอกเบี้ย 0% ครับ
                ดังนั้นอย่าตกใจไปเลยครับ กับดอกเบี้ย 0% แต่ควรจะตกใจครับ ว่าทำไมคุณเพิ่งจะรู้ว่า ทุกวันนี้ เงินที่คุณฝากธนาคารไว้ มันเสมือนได้ดอกเบี้ย 0% มานานมากแล้ว แล้วคุณยังไม่รู้เลยด้วยว่า จะทำอย่างไร ทำไมประเทศชาตินี้ไม่มีใครบอกก่อนหน้านี้ (หรือมี แต่ไม่เคยสนใจหว่า???)

                นี่ละครับ เหตุผลที่ เว็บนี้จึงเกิดขึ้นมา เราต้องมาหัดเดิน หัดศึกษา ด้านการเงิน การลงทุนกันแล้วละครับ


หมายเหตุ รูป ข้อความ ว่า รู้ตัวมั้ย? ผมเอามาจาก web tmb นะครับ :)

ทำอย่างไร ถึงจะมีโชคดี! ได้ผลตอบแทนสูง ในการลงทุนที่คนบอกว่า High Risk, High Return

ประโยคที่ว่า High Risk, High Return หรือ ยิ่งความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนก็สูงเป็นประโยคที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ โดยเฉพาะกับยุคนี้ ที่มีโฆษณากองทุน ผ่านสื่อต่างๆ แล้วตบด้วยคำพูดเร็วๆ เหมือนไม่อยากให้ฟังทันว่า "การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน" ซึ่งทุกคนก็ยังเก่ง มาหลอกขายกันไม่ได้ง่ายๆ หรอก ฟังทันกันอยู่แล้ว แล้วก็เล่นเอาหลายๆ คน Say no! กับกองทุนไปเลย แล้วก็บอกว่า ไม่ไหว ไม่เสี่ยงดีกว่า กลัวขาดทุน เก็บเงินฝากธนาคารไว้ดีกว่า ดอกเบี้ยน้อยหน่อย ไม่ต้องเสี่ยง ไม่ต้องศึกษาอะไรยากๆ เป็นคนพอเพียง พออยู่ พอกินมาม่าได้ทุกเดือน 55

 หัดเดิน ทางการเงิน


เป็นความเข้าใจผิดนะครับ ประโยคนั้นมีตรงไหนบอกหรือครับ ว่าจะต้องขาดทุน ที่บอก บอกเพียงแค่ว่า มันมีความเสี่ยง ให้ศึกษาก่อน!  ... ซึ่งผมไม่เถียงนะ ว่ามันขาดทุนได้ แต่ถ้าเรารู้จัก และศึกษาอย่างเพียงพอแทนละครับ ว่าจะทำอย่างไรให้ไม่พลาด โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่สูงมาแทน ก็มีไม่ใช่หรือครับ

งั้นไม่ลงทุน ทำงานดีกว่า แล้วทุกๆ วันนี้ที่เราทำงาน เสี่ยงไหมครับ
·         ทำไม นักขับรถ F1 ถึงรายได้ดี กว่าคนขับเครื่องบินครับ เพราะเสี่ยงสูงครับ รายได้จึงดีกว่า
·         ทำไมคนงานขุดเหมืองแร่ ถึงรายได้ดีกว่าคนงานขุดท่อบนถนนครับ เพราะเสี่ยงสูงกว่า
·         ทำไมคนที่ทำงานที่บ่อขุดน้ำมันกลางทะเล จึงมีรายได้ดีกว่า ขุดบ่อน้ำบาดาล ครับ เพราะเสี่ยงสูงกว่า
·         ทำไม หัวหน้างาน จึงรายได้สูงกว่าลูกน้องในทีมงาน นอกจากประสบการณ์ ความชำนาญแล้ว อีกอย่างก็
เพราะเสี่ยงสูงกว่าครับ เสี่ยงที่จะถูกตำหนิ ถูกไล่ออก หากทำงานไม่สำเร็จ จำเป็นต้องรับผิดชอบมากกว่าทีมงาน

แล้วกับการลงทุนละครับ เราจะเสี่ยงขาดทุนไหมครับ หากเรา เข้าใจว่าทำอย่างไร จึงจะปลอดภัย แน่นอนครับ หากอยากได้อะไรที่เป็นผลตอบแทนสูง คนที่รับงานที่เสี่ยงสูงกว่า ก็ย่อมควรได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่จำเป็นต้องเสี่ยงขาดทุนไหม ไม่จำเป็นครับ เพียงแต่ต้องศึกษาให้เพียงพอ และรู้วิธีป้องกัน ถ้าคุณเพิ่งจะขับรถเป็น แล้วกระโดด ขึ้นไปขับรถ F1 โดยไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันใดๆ เลย ก็เท่ากับเสี่ยงสูงบ้าระห่ำ และสิ่งที่ได้ก็คือ การขาดทุน หรือ เสียชีวิต แต่ถ้าคุณค่อยๆ ฝึกหัด ศึกษา สวมอุปกรณ์ป้องกันภัย คุณก็ควบคุมความเสี่ยง และได้รับผลตอบแทนที่ดีได้ครับ


ทุกวันนี้เราทุกคนที่ทำงาน ต่างก็ลงทุนกันหมดละครับ ลงทุนกับการเดินทางมาทำงาน ลงทุนกับการซื้อของมาขาย เพียงแต่เราได้ผ่านการลงทุนกับการศึกษา จนเรามั่นใจว่า สิ่งที่เรายอมจ่ายไปก่อนนั้น จะได้รับผลตอบแทน ที่มากกว่าเงินที่เราลงทุนไป คนที่ทำงานจนได้ผลตอบแทนที่สูง ไม่ได้โชคดีครับ แต่เค้าสร้างโชคดีนั้นให้กับตัวเอง โดยการศึกษา ทำงาน สั่งสมประสบการณ์ ลดความเสี่ยงที่จะขาดทุน มองเห็นช่องทาง จนได้ผลตอบแทนที่ดีครับ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จก็เช่นกันครับ หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ ยิ่งเข้าใจมาก ผลตอบแทนก็ยิ่งมาก (High Understanding, High Return)