วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ออมเงินได้แล้ว เอาเงินออมไปทำอะไรต่อดี


         นับว่าเป็นกระแสหนึ่งของสังคมทุกวันนี้เลย สำหรับการส่งเสริมการออม บางคนก็ออมด้วยเก็บแบงค์ 50 บาท บางคนก็ออมด้วยเศษเหรียญ บางคนก็ออมด้วยตัดเงินเข้าบัญชี บางคนก็ออมด้วยสลากออมสิน บางคนก็ออมด้วยสลากกินแบ่ง.. เฮ้ย! ไม่ใช่ละ


                เอาเป็นว่า พอออมเงินได้แล้ว หลายๆ คนก็งงกับตัวเอง ว่าออมมาได้ไง ออมแล้วจะทำยังไงต่อ เก็บเงิน เก็บเศษเหรียญมาทั้งปี มาดูอีกที มีตังค์เก็บมาตั้งหลายหมื่น เพื่อนชวนไปเที่ยวญี่ปุ่นพอดี เย้!””” เออ.. หมดกันพอดี

                หลังจากหลายคน เข้ามาเป็นสมาชิก คนออมเงินแล้ว ก็จะต้องเจออีกกระแสหนึ่งคือ ต้องลงทุน บางคนก็บอกว่า ต้องลงทุน ไม่ลงทุน เงินที่ออมมาจะโดนเงินเฟ้อกิน หรือ ต้องลงทุน ไม่งั้นจะไม่มีเงินพอใช้ยามเกษียณ แต่สุดท้ายแล้ว ให้ทำยังไงละ ลงทุนไม่เป็น ไม่มีความรู้เลย ไม่ได้เป็นนักธุรกิจนะ จะได้ลงทุนเป็น

                อยากจะบอกว่า เชื่อว่าทุกคนเคยลงทุน ให้เงินกู้มาทุกคนแล้วครับ เชื่อไหม? ทุกคนเคยเป็นเจ้าหนี้มาก่อน อะ ให้เวลานึกๆ ว่าเคยให้ใครยืมเงินไหม สมัยเด็กๆ เคยให้ใครยืมเงินไปหว่า.. (เอ ถ้านึกได้ นึกอีกนิดนะว่าได้คืนครบไหม ถ้าไม่ครบ ไงอ่านให้จบก่อน ค่อยไปทวงนะ) เอาละซิ หลายๆ คน คงนึก เกิดมาไม่เคยให้ใครยืมเงินซักหน่อย มาฟังเฉลยกันครับ

                เคยซิครับ ส่วนใหญ่ คุณทุกคนจะเคยให้ บุคคล คนหนึ่ง ยืมเงิน ยืมโดยมีเงื่อนไขที่ว่า จะต้องให้ดอกเบี้ยคุณด้วยนะ และ คุณจะขอเงินคืนเมื่อไรก็ได้ อืม.. เงื่อนไขดีทีเดียว แถม คุณขอคืนผ่านช่องทางต่างๆ ก็ได้นะ ขอคืน ผ่านตามสาขาก็ได้ ขอคือผ่าน ระบบอินเตอร์เน็ตก็ได้ หรือ ขอคืนผ่านตู้ ATM ก็ได้ นั้นแน่.. ใช่แล้วครับ บุคคลที่ผมพูดถึงก็คือ คุณให้นิติบุคคล อย่างธนาคาร ยืมเงินไปนั้นเอง ผ่านบัญชีเงินฝากของคุณไงครับ โดยมีสัญญายืมเงิน ที่จะให้ดอกเบี้ยคุณ ในแต่ละปี และคุณจะทวงคืนเมื่อไร ผ่านช่องทางอะไรก็ได้ ตามนั้นครับ

                เพียงแต่ เมื่อมันสะดวกขนาดนี้ ขอคืนเมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ สิ่งที่แลกมาก็คือ ดอกเบี้ยที่ต่ำมากนั้นเองครับ ที่นี่ ถ้าอยากได้ดอกเบี้ยมากขึ้นละ ทำอย่างไรได้บ้าง ก็ต้องมีเงื่อนไข อื่นๆ เข้ามาเพิ่มไงครับ เช่น
- จะให้ยืมนานขึ้น เช่น ต้องให้ยืมอย่างน้อย 3 เดือน 6 เดือน หรือก็คือการฝากประจำนั้นเอง
- ไม่เอาคืนบ่อยๆ นะ หรือ ก็คือ มีข้อจำกัดในการเอาเงินคืน เช่น บัญชีดอกเบี้ยสูง ของธนาคารต่างๆ ที่จำกัดจำนวนครั้งในการคืน หรือ จำกัดช่องทางในการคืนเงิน
นอกจากบัญชีเงินฝากต่างๆ แล้ว ก็ยังมีการลงทุนประเภทอื่นๆ ที่ทำผ่านธนาคารได้อีก เช่น
-  ซื้อสลากออมสิน หรือ ธกส. ที่คล้ายๆ ฝากประจำระยะยาว แต่แทนที่จะได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดอย่างเดียว ทางธนาคาร ก็แบ่งดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวนั้น มาเป็น รางวัลให้มาลุ้นกัน
-           ลงทุนผ่านกองทุนต่างๆ  ซึ่งก็มีอีกมากมายหลากหลายประเภท
จนไปถึงการ ลงทุนเองในพันธบัตรรัฐบาล หรือ หุ้นกู้ ของบริษัทต่างๆ ลงทุนผ่านตลาดหุ้น ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

ซึ่งก่อนจะลงทุนในอะไร เราก็ต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนนะครับ เพราะการลงทุน แต่ละประเภท มีวัตถุประสงค์ต่างกัน หรือ หากมองเทียบเคียง ก็ต้องบอกว่า ให้ลองมอง การลงทุน แต่ละอย่าง เป็น Tool หรือ อุปกรณ์ในการใช้งาน ที่เราสามารถเลือกใช้ได้ เช่น อุปกรณ์ช่าง หากเราไม่รู้อะไรเลย เราก็รู้แค่ ค้อนเอาไว้ทุบ ไขควงเอาไว้ไข แต่หากเราศึกษา จะพบว่า มีคีม มีกุญแจปากตาย มีสว่านที่ต้องลงทุนหน่อย แต่สร้างความสะดวกให้เรา ทำให้เราทำงานได้ง่าย และเสร็จเร็วขึ้น การลงทุนต่างๆ ก็เช่นกันครับ หากเราศึกษา และวางเงินออม ไปลงทุน ได้ถูกที่ ถูกอุปกรณ์ ก็จะช่วยผ่อนแรง และ สร้างผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้นให้กับเราได้เช่นกัน มาเริ่ม หัดเดินการเงิน กันครับ

หัดเดินการเงิน

เริ่มเรียนรู้ เริ่มหัดเดินการเงิน กันครับ

ขอบคุณ ภาพประกอบจาก http://www.pixabay.com

วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ปวดหัวจัง มีเงินเก็บ แต่ไม่รู้ว่าจะเอาไว้ที่ไหนดี

      โอ้ย! ปวดหัวจัง มีเงินเก็บ แต่ไม่รู้ว่าจะเอาไว้ที่ไหนดี นอกจากฝากธนาคาร หรือ ต้องฝากไว้กับบัญชีแบบไหน?? คุณเคยเจอปัญหานี้ไหม ถ้าเจอ แสดงว่า คุณโชคดีนะครับ หรือ น่าจะเคยได้ยินที่คนบอกว่ามันเป็น Happy Problem คือ เป็นปัญหา ที่ดี เป็นปัญหาที่คุณอยากจะเจอ แน่นอนละ วิธีหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือ ไม่มีต้องมีเงินออม คุณเอาไหมละ ขอเจอปัญหา ปวดหัว เพราะมีเงินดีกว่าใช่มะ



พอมีเงินออม สิ่งที่เรารู้จักมาตั้งแต่เด็กๆ ก็คือ ให้หยอดกระปุก ฝากธนาคาร ซึ่งในส่วนการฝากธนาคาร เราก็จะรู้จักกันอยู่หลักๆ ว่ามีบัญชี อยู่ 2 ประเภทคือ ฝากออมทรัพย์ กับ ฝากประจำ ซึ่งเอาจริงๆ มันเป็นอดีตไปแล้ว ทุกวันนี้แบงค์เอง มีการสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ขึ้นมาหลากหลายมาก เพื่อ ตอบสนองตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ปัญหาคือ เรารู้จัก เข้าใจ และเลือกใช้อุปกรณ์ หรือ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เรานี้หรือไม่ หรือความรู้เรายังเป็นแบบเก่า และใช้งานแต่อุปกรณ์แบบเก่าอยู่

กับอีกปัญหาหนึ่ง คือ เรารู้หรือเปล่าว่า เงินก้อนที่เรามีอยู่นั้น มีไว้ทำไม เงินของเรา เราอาจจะมีแยกเป็นหลายส่วน บางส่วนเก็บไว้ใช้ภายในเดือนนี้ บางส่วนเก็บไว้ใช้ในอีก 6 เดือน หรือ 1ปีข้างหน้า (เช่น จะซื้อรถ จะเรียนต่อ เป็นต้น) บางส่วนเก็บไว้ใช้เวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน และ บางส่วนเก็บไว้ใช้เมื่อถึงเวลาที่เราไม่ได้ทำงาน

บทความนี้ขอ ตัดพูดแนะนำแบบง่ายๆ ก่อนนะครับ แล้วจะมาพูดถึงในรายละเอียดทีละเรื่องอีกที เรามาลองดูกันว่า ถ้าหากเรามีเงินที่บอกได้ว่ามีไว้ทำแบบนี้แล้ว จะเลือกอุปกรณ์อะไรในการช่วยจัดสรรเงิน ให้ได้ประสิทธิภาพกัน

1. เงิน สำหรับใช้จ่ายภายในเดือน ลักษณะก็คือ เงินที่เราจะต้องสามารถหยิบมาใช้ได้ทันที ที่ต้องการ ซึ่งก็จะเป็นเงินที่เราทุกคนรู้จักกันดีที่สุด เงินนี้จะเก็บไว้ที่บ้านก็ได้ ในกระเป๋าสตางค์ ในบัญชีธนาคารแบบออมทรัพย์ ได้หมด ข้อดีคือ สะดวก หยิบใช้ได้ตลอดเวลา ข้อเสียก็คือ เงินกลุ่มนี้ จะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนใดๆ ให้เราได้เลย หรือ ให้ได้น้อยมากกกกกก เช่น ปีละ ไม่ถึง 1% ตามรูปแบบบัญชีออมทรัพย์ปกติ

2.  เงิน สำหรับไว้ใช้ยามเกิดเหตุฉุกเฉิน เงินกลุ่มนี้ เราจะมองว่า เป็นเงินก้นถุง เป็นเงินที่เราต้องการเก็บไว้เฉยๆ ไม่มีเหตุอะไร ก็ไม่หยิบมาใช้ แต่เมื่อต้องหยิบมาใช้ ก็หยิบมาใช้ได้ทันที และมูลค่าของเงินส่วนนี้ ไม่ควรลดลง แน่นอน ว่าเก็บในบัญชีแบบที่ 1 ก็ได้ เพียงแต่ อาจจะมีปัญหา 2 แบบคือ ถ้าเก็บบนกัน ถึงเวลาอาจจะเผลอหยิบมาใช้โดยไม่รู้ตัว วิธีแก้ไขคือ แยกเปิดบัญชีออมทรัพย์อีกบัญชีไว้เก็บ หรือ อีกที ก็ใช้อุปกรณ์อื่นๆ ช่วย เช่น บัญชีฝากประจำ กองทุนตราสารเงิน หรือพวกออมทรัพย์พิเศษ เป็นต้น ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการที่เบิกถอนได้ภายใน 1 วันทำการ และมูลค่าของเงินไม่ลดลง แถมยังได้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าฝากออมทรัพย์อีกนิดหน่อยอีกด้วย

3.  เงิน ที่วางแผนว่าจะใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งถือว่า มีช่วงเวลาพอสมควร ยกตัวอย่าง มีแผนจะซือ้รถในปีหน้า จะดาวน์ซัก 120,000 บาท ก็อาจจะใช้วิธี ทยอยสะสมเงินทุกเดือน เข้ากองทุนตลาดเงิน หรือ กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เดือนละ 5,000 บาท ครบ 2 ปี ก็จะได้เงินมาครบ พร้อมกับผลตอบแทนอีกนิดหน่อย 

4.  เงิน ที่สะสมไว้ใช้ยามเกษียณ หากมองระยะเวลาว่าเป็นการเตรียมเงินระยะยาวมากกว่า 10 ปีแล้ว ก็แนะนำให้ทำความเข้าใจการลงทุนในตลาดหุ้น ที่จะมีความผันผวน แต่หากย้อนดูอดีตที่ผ่านมา หากมีการทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ และมีระยะเวลาที่นานเพียงพอเป็น 10 ปี ผลตอบแทนอย่างแย่ที่สุด ก็ยังดีกว่าผลตอบแทนจากบัญชีเงินฝาก และมีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทน ทีดีถึง 10% ได้ กองทุนหุ้น จึงเป็นทางเลือกที่ดี แต่ในข้อแม้ที่ คุณต้องมี เงินสำหรับข้อ 1 – 3 เรียบร้อยแล้ว เพราะหากเกิดความจำเป็นที่ต้องใช้เงิน แล้วไม่มีเงินเตรียมไว้สำหรับข้อ 1 – 3 กลายเป็นต้องมาหยิบ มายืมเงินในก้อนที่ 4 นี้แล้ว เกิดเป็นปีที่ผลตอบแทนแย่ ก็อาจจะทำให้ผิดหวังไปได้เหมือนกัน

    จริงๆ ทุกเรื่องในชีวิต อยู่ที่ความเข้าใจ และการจัดการ วางแผน ตั้งแต่สมัยเรียน หากเราเข้าใจ มีความรู้ในเรื่องที่เรียน มีการจัดการเตรียมตัวที่ดี ก็จะได้ผลการเรียนที่ดี เมื่อทำงาน หากเรามีความรู้ในเรื่องที่ทำงาน เราเรียนรู้จนเป็นผู้เชียวชาญ และจัดสรรเวลาในการทำงานได้ดี เราก็จะได้ผลงานที่ดี เรื่องการเงินก็เช่นกัน หากเราไม่เรียนรู้ เราก็จะได้ผลตอบแทนเท่ากับความรู้ที่เรามี เราจะไม่มีทางเลือก ไม่รู้จักอุปกรณ์ต่างๆ ที่มี แต่หากเราเรียนรู้ และจัดการ เราก็จะได้ผลตอบแทนที่ดี เหมาะสมกับความรู้ ที่เรามี

เริ่มเรียนรู้ เริ่มหัดเดินการเงิน กันครับ

ขอบคุณ ภาพประกอบจาก http://www.pixabay.com

วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

ที่มาของเพลง ฤดูที่แตกต่าง - Season Change - บอย โกสิยพงษ์ ( Feat. นภ พรชำนิ)

ที่มาของเพลง ฤดูที่แตกต่าง - Season Change - บอย โกสิยพงษ์ ( Feat. นภ พรชำนิ)

  ได้ฟังเรื่องประทับใจมา อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับ การเงินโดยตรง แต่ก็เชื่อว่าเป็นประโยชน์กับทุกคน และสามารถนำมา ช่วยเสริมสร้าง ประคับประคอง เส้นทางการเงิน ที่ต้องใช้ระยะเวลา และความอดทนอันยาวนาน เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายทางการเงิน ของแต่ละคน

  เพลง ฤดูที่แตกต่าง - Season Change เชื่อว่าทุกคนคงคุ้นเคยกับเพลงความหมายดีอย่างเพลงนี้ กันอย่างดี แต่บางคนอาจจะรู้สึกว่า มันก็เป็นแค่เพลง เป็นเพียงคำคมๆ ที่คนที่ไม่ได้เจอปัญหา อย่างเรา จะมาเข้าใจอะไร พอเจอปัญหาจริงๆ มันไม่ง่าย เหมือนขนาดนั้น ทำไม ทำอย่างไร ก็ไม่พ้นฤดูฝน ซักที มีแต่เจอพายุ ลูกใหม่ กระหน่ำเข้ามา อยากให้ลองฟัง ที่มาของเพลงนี้ จาก คุณ บอย โกสิยพงษ์ กัน



  คุณ บอย เล่าให้ฟัง ในรายการ Byrd Say Play Heart ว่า ในการทำอัลบัมแรก Rhythm and boyd  ที่สร้างชื่อ แจ้งเกิด ให้ทุกคนรู้จักนั้น คุณบอย ขอเงินของที่บ้าน เพื่อไปทำ ซึ่งทำจนเสร็จแล้ว แต่ด้วยความด้อยประสบการณ์ จึงทำให้งานที่ทำเสร็จแล้วนั้น พังไปหมด เพราะไม่ได้ทำ copy สำรองไว้ดีพอ ซึ่งก็หมดกำลังใจไปแล้ว 1 รอบ กลับมาคุยกับที่บ้าน คุณพ่อ ก็ให้กำลังใจ และให้เงินก้อนใหม่ ไปทำอีกครั้ง ครั้งนี้ คุณบอย ก็มีความรอบคอบขึ้น มีการทำสำเนาไว้หลายชุด และเตรียมที่จะนำไปกระจาย ฝากคนต่างๆ หลายชุด แต่ในวันที่ทำเสร็จนั้น งานที่อยู่ท้ายรถ ที่เตรียมจะนำไปฝากกระจายให้คนรู้จัก คืนนั้น รถก็ถูกงัดขโมยงานไปหมด จนท้อหมดกำลังใจ จนรู้สึกว่าพระเจ้าคงไม่อยากให้ทำแล้ว รวมถึงรู้สึกถึงความไม่ได้เรื่อง ของตัวเอง ที่นอกจากจะไม่ได้เรียนให้เป็นที่ภูมิใจของ พ่อ แม่ แล้ว เมื่อทำงานนำเงินที่บ้านมา ก็ยังล้มเหลวอีก จน คุณแม่ กล่าวว่า "ชีวิตคนเรา เหมือนฤดู ตอนนี้มันฝนตก บอยก็ต้องรอให้ฝนมันหยุด แล้วฟ้าหลังฝนมันจะสวยงาม" จึงได้ทบทวน รอบคอบ และนำแนวคิดนี้ มาแต่งเป็นเพลง ฤดูที่แตกต่าง และ สู้อีกครั้งจนสำเร็จเป็นอัลบัม Rhythm and boyd ที่เราได้ฟังกัน (ที่มา https://www.youtube.com/watch?v=Uw02bsQlAZ8&feature=youtu.be&t=1h11m51s)



เนื้อเพลง ฤดูที่แตกต่าง - Season Change - บอย โกสิยพงษ์ ( Feat. นภ พรชำนิ)

อดทนเวลาที่ฝนพรำ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง
เมื่อวันเวลาที่ฝนจาง ฟ้าก็คงสว่างและทำให้เราได้เข้าใจ
ว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนที่เฝ้ารอ

หากเปรียบกับชีวิตของคน เมื่อยามสุขล้นจนใจมันยั้งไม่อยู่
ก็คงเปรียบได้กับฤดู คงเป็นฤดูที่แสนสดใส
แต่ถ้าวันหนึ่งวันไหน ที่ใจเจ็บทนทุกข์ ดังพายุที่โหมเข้าใส่
บอกกับตัวเองเอาไว้ ความเจ็บต้องมีวันหาย
ไม่ต่างอะไรที่เราต้องเจอทุกฤดู

อดทนเวลาที่ฝนพรำ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง
เมื่อวันเวลาที่ฝนจาง ฟ้าก็คงสว่างและทำให้เราได้เข้าใจ
ว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนที่เฝ้ารอ

เมื่อวันที่ต้องเจ็บช้ำใจ จากความผิดหวังจนใจมันรับไม่ทัน
เป็นธรรมดาที่เราต้องไหวหวั่น กับวันที่อะไรมันเปลี่ยนไป
แต่ถ้าวันหนึ่งวันไหน ที่ใจเจ็บทนทุกข์ ดังพายุที่โหมเข้าใส่
บอกกับตัวเองเอาไว้ ความเจ็บต้องมีวันหาย
ไม่ต่างอะไรที่เราต้องเจอทุกฤดู

อดทนเวลาที่ฝนพรำ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง
เมื่อวันเวลาที่ฝนจาง ฟ้าก็คงสว่างและทำให้เราได้เข้าใจ
ว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนที่เฝ้ารอ

อย่าไปกลัวเวลาที่ฟ้าไม่เป็นใจ อย่าไปคิดว่ามันเป็นวันสุดท้าย
น้ำตาที่ไหลย่อมมีวันจางหาย
หากไม่รู้จักเจ็บปวดก็คงไม่ซึ้งถึงความสุขใจ

อดทนเวลาที่ฝนพรำ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง
เมื่อวันเวลาที่ฝนจาง ฟ้าก็คงสว่างและทำให้เราได้เข้าใจ
ว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนที่เฝ้ารอ

หัดเดินการเงิน

วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

ต้องมีเงินเท่าไร ถึงจะไม่ต้องทำงานหลังเกษียณนะ

                คุณอายุเท่าไรแล้วครับ เพิ่งเริ่มทำงานหรือเปล่า หรือ ทำงานมาจนเบื่อแล้ว ...  ไม่ต้องตอบก็ได้ครับ เพราะจริงๆ แล้ว ผมแค่อยากถามว่า ตอนที่เกษียณนั้น ยังอยากทำงานอยู่ไหม ผมว่าส่วนใหญ่ คงตอบว่าไม่อยากทำ หรือ อาจจะมีบางท่านที่สนุกกับงาน ได้ทำงานที่รัก อยากทำงานนั้นจนวันตาย เพราะเป็นงานที่รัก แต่คงไม่ได้อยากทำงานจนวันตายเพราะ ต้องหารายได้ประทังชีวิต




                งั้นคำถามต่อมา หากเราเกษียณอายุซัก 60 ปี อยากมีเงินใช้ประมาณ เดือนละ 25,000 บาท แล้วกะว่าตายซักตอนอายุ 85 ปี ละ เราจะต้องมีเงินเก็บซักเท่าไร จึงจะมีเงินพอใช้โดยไม่ต้องไปคาดหวังว่าลูกจะมาให้ตังค์ใช้ (ถ้ามีนะ) หรือ ไปหวังกับเบี้ยผู้สูงอายุจากรัฐบาล ที่จะเพิ่มให้เป็นเดือนละหลายหมื่นบาท (ตื่นๆ ... )

                คำตอบนะครับ คิดง่ายๆ ชุ่ยๆ ก็คือ ค่าใช้จ่ายต่อเดือน คูณ จำนวนเดือน คูณจำนวนปี = 25,000 x 12 x 25 = 7,500,000 บาท เอาแล้วไง เปลี่ยนใจเกษียณปุ๊บใช้เงินให้หมดแล้วตายปั้บเลยได้ไหม 555 ... คงไม่ได้นะครับ

                แถมถ้ามองว่าตัวเลขนี้เยอะแล้ว จริงๆ ไม่พอครับ เพราะที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อไทยอยู่แถวๆ 3% ต่อปี หากอยากมีเงินใช้เดือนละ 25,000 บาท เท่ากับในปัจจุบัน อาจต้องเตรียมเงินถึงประมาณ 11 ล้านบาทเลยทีเดียว เห็นแบบนี้แล้ว หากใครเคยดูหนังเรื่อง In Time (https://www.youtube.com/watch?v=xqMqjANc8NA) อาจจะบอกว่าขอเป็นแบบในหนังเลยดีไหม คือ เวลาในชีวิตที่เหลือ ขึ้นกับจำนวนเงินที่เหลือ ถ้าเงินหมดเวลาก็หมด ก็ใช้เงินหาความสุขให้หมดแล้วตายซะเลย.. พูดเอามันก็คงดีละครับ แต่ในความเป็นจริง คนเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว มีคนที่รักเรา และเรารัก ที่จะต้องดูแลกัน การทำแบบนั้นคงไม่ใช่เรื่องสนุก

                ผมว่าเรามาลองคิดวางแผนกันดีกว่า ว่าเราจะทำอย่างไร ให้มีเงินซัก 10 ล้าน เมื่อเกษียณอายุ ทางเลือกหนึ่ง ในหลายร้อย หลายพันทางเลือก คือ การออมเงิน และลงทุนครับ ด้วยพลังของอัตราผลตอบแทนทบต้นครับ เรามาดูกันว่า ถ้าเราออมเงินวันละ 50 บาท จะเป็นไปได้ไหม ตามตารางด้านล่างนี้ครับ


                ตามตารางนี้ สมมุติเริ่มออมเงินวันละ 50 บาท เมื่ออายุ 30 ปี และ ออมเพิ่มทุกปี ปีละ 5% เช่น ปีที่สอง ออมเป็น 52.5 บาท เป็นต้น (น่าจะไหวนะ น่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นทุกปี) จากตารางจะเห็นว่าหาก ลงทุนได้ผลตอบแทนปีละ 15% ตอนอายุ 60 ปี คุณจะมีเงินเก็บถึง 11 ล้านบาท ตามเป้าหมายทีเดียว โดยที่จริงๆ แล้วคุณออมเงินตัวเองเพียง 1 ล้านเท่านั้น แต่ได้ผลตอบแทนจากเงินดังกล่าวมาอีกตั้ง 10 ล้านบาท!

                จริงอยู่ครับ ผลตอบแทนปีละ 15% ณ.วันนี้ อาจจะไม่ได้หาได้ง่ายๆ (ในอดีตกาล สมัยหนึ่ง แค่ฝากประจำก็ได้แล้วนะ) ตารางข้างต้น ทำขึ้นมาเพราะอยากให้เห็นว่า ด้วยการออมเงินเพียงวันละ 50 บาท ก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้ 10 เท่า และเพียงพอต่อการใช้ยามเกษียณ เมื่อมีระยะเวลามากเพียงพอ ซึ่งเราก็ต้องมาเริ่มทำ เริ่มเรียนรู้ หัดเดินการเงิน เพื่อที่เราจะเลือกกันว่า เราจะออมเพิ่มมากขึ้น มากกว่าวันละ 50 บาท หรือ เราจะหาความรู้เพื่อลงทุนให้ได้ 15% ต่อปี หรือ เราจะปล่อยเวลาเดินผ่านไปอย่างที่ผ่านมา โดยไม่เริ่มทำอะไร...


หัดเดินการเงิน

ขอบคุณภาพประกอบจาก https://pixabay.com

วันศุกร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560

ทำงานเพื่อใคร?

                งัวเงีย ตื่นเช้า อาบน้ำ แต่งตัว ออกจากบ้าน เดินทางด้วยความเร่งรีบ เข้างาน ออกงาน สังสรรค์ กลับบ้าน นอน เป็นกิจวัตร ประจำวันของเราหลายๆ คน  ที่เรียนจบ ทำงานกันแล้ว แล้วเราเคยได้หยุดคิดกันไหม ว่าทำไม เราจึงต้องทำแบบนี้ ทำไปทำไม และ เพื่อใคร?
                บ้าป่าว... ไม่เห็นต้องคิด ที่ทำนี่ ก็ทำงาน เพื่อตัวเอง ดูแลหาเลี้ยงตัวเอง ให้มีกินมีใช้ ไม่เห็นต้องคิด ถามอะไรบ้าๆ ... เสร็จแล้วก็ก้มหน้า ก้มตา ทำงานต่อไป


                หยุดคิดนิดนะ ว่าเราทำงานเพื่อใคร.. เราทำงานแล้วได้รับเงินเดือน แน่นอน คนแรกที่เราทำงานให้ก็คือ บริษัท นั้นเอง เมื่อเราทำงานให้ เค้าจึงให้เงินเดือนเราตอบแทน ใช่ครับ เราทำงานเพื่อเค้าครับ แล้วเราได้ของตอบแทนมาเป็นเงินเดือน เป็นรายได้ของเรา แล้วหลังจากวันเงินเดือนออกละ เราทำอะไร

                กลางวัน เราเดินไปกินข้าว แวะซื้อชา ซื้อกาแฟ จากร้านป้าเจ้าประจำ ทุกวัน ใช่ครับ เรานำเงินที่เราแลกมา จากการใช้เวลาในชีวิตเรา มาให้ป้าครับ เราทำงานเพื่อให้ป้า มีรายได้ไปดูแลร้าน เลี้ยงดูป้าเอง

                ค่ำคืน (หรือเช้า..) เรากลับบ้าน ถ้าเช่า อพาร์ทเม้นท์ หรือ คอนโดอยู่ ทุกเดือนเรา ต้องจ่ายค่าเช่า หรือ หากเป็นห้องของเราที่ เรากู้ยืมสินเชื่อแบงค์มา ทุกเดือนเราก็ต้องผ่อนจ่ายเงินกู้แบงค์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ย ใช่ครับ เราทำงานเพื่อเจ้าของห้องพัก หรือ เพื่อธนาคาร
                เรากลับถึงห้องพัก เราเปิดมือถือ ดู YouTube เล่น Facebook ใช่ครับ เราทำงานเพื่อ Mark Zuckerberg (เฮ้ย ..) เราทำงานเพื่อบริษัทผู้ให้บริการมือถือ หรือ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ได้มีรายได้ (พี่ Mark ก็ได้ด้วยละ อ้อมๆ หน่อย)

                ทำไม ผมถึง พูดอย่างนั้นละ ก็เพราะ ถ้าคนที่ผมพูดถึงเหล่านี้ ไม่มีเรา รายได้ของเค้าก็หายไป หรือ ก็คือ ทุกวันนี้ ที่เราใช้เวลาในแต่ละวันของเรา ทำงานนั้น แล้วไปจ่ายเงินที่ได้จากการให้เวลาของเราไปทำงาน ก็คือเรา กำลังทำเพื่อสร้างรายได้ส่งต่อให้กับคนอื่นๆ ต่อด้วยนั้นเอง

                อ้าว ก็ทำงานแล้ว ก็ใช้จ่ายซิ เพื่อความสุข ความสบายของเรา ทำไมจะไม่ใช่ทำเพื่อเราละ ก็ถูกละครับ เพียงแต่เราทำงานให้คนที่ให้ความสุข ความสะดวกสบาย แก่เราเหล่านี้แล้ว เรา ได้ทำงานให้ตัวเราจริงๆ บ้างหรือเปล่าครับ  เงินที่เราได้มา เราได้นำมาเก็บออมไว้ เพื่อตัวเราในอนาคตบ้างไหมครับ คนต่างๆ ก่อนหน้านี้ หากไม่มีเรา เค้าก็เดือดร้อนนิดเดียว เพราะก็จะแค่ขาดรายได้จากเราไปคนเดียว แต่ตัวเราเอง หากวันหนึ่ง ไม่มีรายได้ แล้วเราจะเอารายได้จากไหนครับ

                ไม่มีใครเอาเงินมาให้เรา อย่างที่เรานำเงินเราไปให้คนอื่น หากเราไม่ได้จ่ายเงิน เก็บออมเงิน เพื่อตัวเราเองในอนาคต เริ่มกันนะครับ เริ่มเก็บออม เริ่มหาความรู้ทางการเงิน เริ่มวางแผนชีวิตตัวเอง หยุดเงยหน้า ขึ้นมาทำงาน ขึ้นมาศึกษา เรียนรู้ เพื่อตัวเราเองกันเถอะครับ


หัดเดินการเงิน     

ขอบคุณภาพประกอบจาก https://pixabay.com

วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

เคยกินห่านที่ออกไข่ทองคำไหม? อร่อยนะ!

            เชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยได้ยิน ได้ฟัง นิทานเรื่อง ห่านกับไข่ทองคำ ที่เป็นชาวบ้านยากจน ที่บังเอิญ มีห่านที่เลี้ยงไว้ 1 ตัว ออกไข่ มาเป็นทองคำทุกวัน เอาไข่ทองคำไปขายได้ แล้วตัดสินใจ ผ่าท้อง(ก็ฆ่านั้นละ) ห่านตัวนั้น ด้วยกะว่า ผ่าออกมาแล้วจะมีไข่ทองคำมากมายเก็บไว้ แต่สุดท้าย ก็ไม่มีไข่ใดๆ และห่านก็ตายไป หมดไข่ทองคำ ที่จะเอาไปขาย ซึ่ง เชื่อว่าผู้อ่านแต่ละท่าน ก็คงนึกละว่า ชาวบ้านคนนี้ คิดอะไรไม่เข้าท่าเลย ไม่น่าโลภมาก คิดได้อย่างไร ว่าจะมีไข่ทองคำในท้องห่าน และเชื่อว่า ทุกท่านก็คงคิดละว่า ถ้าเป็นตัวเอง ก็คงไม่โลภมาก ดูแลห่านตัวนี้อย่างดี แล้วคอยเก็บไข่ทองคำไปขายทุกวัน คิดกันประมาณนี้ไหมครับ แล้วเคยคิดจริงๆ ไหมว่า เนื้อห่านตัวนี้มันน่ากิน อร่อย เหมือน ห่านพะโล้ท่าดินแดง เป็ดย่าง MK หรือ ของหวานอย่าง Honey toast ขนมเค้ก ชาเขียว กาแฟ ไหมนะ

แล้วถ้าผมบอกว่า ทุกวันนี้เราต่างก็มี ห่านแบบนี้ละ แล้วเราก็ฆ่ามันกิน ทุกปี อย่างเอร็ดอร่อยอีกด้วย จะเชื่อไหมละครับ ซึ่งถ้าคุณได้อ่านบทความในเพจ นี้มาเรื่อยๆ ก็อาจจะพอนึกออกแล้วละว่า ผมจะวนกลับมาพูดเรื่องเดิมๆ ก็คือ เงินออม ของทุกท่านนั้นละครับ ที่จะเป็นห่านทองคำ ของทุกคน

แรกๆ ห่านของท่าน (เงินออม) อาจจะเป็นลูกห่านตัวเล็กๆ ออกลูกมาเป็นไข่ฟองเล็กๆ ที่เป็นไข่ธรรมดา ไม่ได้เป็นทองคำ กินก็ไม่อิ่ม ก็ประมาณเงินออมน้อยๆ ที่ฝากธนาคารไว้ แล้วได้ดอกเบี้ยปีละไม่กี่บาทนั้นละครับ แล้วเราทำอย่างไรกับ ลูกห่านตัวนี้ละครับ หาความรู้ในการดูแล หาอาหารที่จะป้อนให้มันกลายเป็นห่านที่ออกไข่มาเป็นทองคำ หรือ เลี้ยงมันให้โตมาเป็นห่านธรรมดา หรือ จับมันกินตั้งแต่ยังเป็นไข่กันครับ

ลูกห่าน ก็เปรียบได้เหมือน เงินออมเล็กๆ น้อยๆ ของเราละครับ ถ้าเรารู้จักค่อยๆ เลี้ยงเงินนี้ ให้มันเติบโต ห่านมันก็โตมา ออกไข่ให้เรากินได้ เพียงแต่มันก็ต้องใช้เวลาให้มันโต และมันก็ออกไข่ธรรมดา

แต่หากเราได้ศึกษา หาอาหาร ดั้งด้นค้นหาอาหารดีๆ มาให้ห่านกิน พร้อมเลี้ยงดูในสถานที่ ที่จะให้ห่านนั้นเติบโต ให้ได้ตามเป้าหมาย รอจะถึงวันหนึ่งที่มันผลิตออกไข่ทองคำมาให้ ก็เปรียบเหมือน กับที่เรา ทยอยสะสมและเพิ่มเติมความรู้ในการลงทุน และนำเงินนั้นไปลงทุนให้งอกเงย จนวันหนึ่ง ดอกผลจากเงินออมนั้น ก็จะเป็นไข่ทองคำ ที่จะเลี้ยงดูเราในแต่ละวันได้เช่นกัน

ว่าแต่หากว่าทุกวันนี้เรา ไม่เคยเก็บออม แต่เอาเงินออมนั้น ไปซื้อของกิน ซื้อเป็นย่าง ซื้อขนม ซื้อของที่อยากได้ตามใจเราทุกอย่าง ก็คงไม่ต่างจากชาวบ้านคนนั้น ที่ฆ่าห่าน หรือไม่ซิ จะแย่กว่าชาวบ้านคนนั้นอีกนะ เพราะ เราจะไม่เคยได้เลี้ยงห่านจนโต จนออกไข่ทองคำ แต่เรากินมันตั้งแต่ห่านตัวนั้นยังอยู่ในไข่เลยต่างหาก

 รู้จักหาความรู้ ในการลงทุน (หาวิธีว่าทำอย่างไร ให้ห่านกินอะไร จึงจะออกไข่เป็นทองคำ) พร้อมกับ ทยอยเก็บค่อยๆ ป้อนอาหารห่านของเราให้โตขึ้น ไข่ทองคำ จากเงินออม เงินลงทุนของเรา ก็จะได้ออกมาในซักวันหนึ่งครับ

หัดเดินการเงิน

ขอบคุณภาพประกอบจาก https://pixabay.com

วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2560

คนส่วนใหญ่ หมดอนาคต เมื่อเรียนจบ มีงานทำ

                อ่านหัวข้อแล้ว งง กันไหมครับ ปกติจะต้องบอกกันว่า คนหนุ่มสาว เริ่มต้นชีวิต เมื่อเรียนจบ มีงานทำ แต่ผมจะบอกว่า ผมเห็นหลายๆ คน หมดอนาคต หมดเป้าหมายในชีวิต เมื่อเรียนจบ และมีงานทำ คืออย่างไร มาฟังคำอธิบายกันครับ



                คนเราเกิดมา พอเริ่มเรียนรู้หัดเดิน หัดพูดได้ซักพัก ก็จะเริ่มเข้าเรียนในการศึกษาระดับอนุบาล พอจะจบอนุบาล เด็กสมัยนี้บางคนก็จะต้องไปติว สอบเข้าสาธิต สอบเข้าเพื่อเรียนระดับชั้นประถม เด็กจะเริ่มรู้เรื่องแล้ว และเด็กก็จะได้เป้าหมายในชีวิตมาว่า ต่อไปนี้นะ จะต้องเรียนประถมอีก 6 ปี พอจบ ป.6 ก็เรียนมัธยมอีก 6 ปี แล้วเข้าเรียน มหาวิทยาลัย จบปริญญาตรี (หรือจะไปสายอาชีพก็ว่ากัน) แล้วไงต่อ ก็มีทางเลือก มีเป้าหมาย ที่ พ่อ แม่ หรือ สังคม บอกไว้ว่า จะเรียนต่อ หรือ ทำงาน ถ้า ทำงานก็ คือ การเลี้ยงดูตัวเอง หารายได้ดูแลตัวเอง ต่อไป

จบแล้วครับ ชีวิต คือ ตั้งแต่รู้ความ คนเราในยุคนี้ จะได้รับเป้าหมายกันมา โดยไม่ต้องคิดเป้าหมายให้กับตัวเองว่า ต้องเรียนหนังสือนะ เรียนไปตามระดับชั้นต่างๆ พอเรียนจบ ก็หางานทำ ได้งานทำ ก็เลี้ยงดูตัวเอง .... แล้ว เออ... ไงต่อครับ

                มึนไหม มีไหน คิดออกไหม ว่า เป้าหมายต่อจากนี้คืออะไร ใครคิดออก คิดได้ ดีมากครับ แต่หากคิดไม่ออก ไม่ต้องคิดมากครับ คุณน่าจะเป็นคนส่วนใหญ่ ในประเทศ (หรือในโลก) นี้เลยละ ที่เป็นกันอย่างนี้ เมื่อเราไปอ่านบทความของคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เราจะเจอ จุดที่เหมือนกันจุดหนึ่งครับ คือ คนเหล่านั้น มีเป้าหมายต่อว่า ชีวิตนี้ จะทำอะไร จะเป็นอะไร หรือ โดนบังคับให้มีเป้าหมายอะไร เช่น บางคน ไม่มีจะกิน อดอยากมาก่อน ก็มีเป้าหมาย ที่จะมั่งคั่งมีบ้านหลังแรก จะร่ำรวยให้ได้ บางคน อยู่ในบ้านที่มีกิจการขนาดใหญ่ ก็มีเป้าหมายที่จะต้อง มาสานงานต่อ แต่อีกหลายๆ คน ชีวิตปานกลาง ไม่ได้ลำบากมากมาย ไม่ได้มีกิจการจะสืบทอดอะไร แล้วเป้าหมายเราคืออะไรกันครับ

                อาจจะมีหลายคนนึกเถียงในใจว่า ทำไมละ มีงานทำ มีชีวิตที่มีความสุข ก็เพียงพอแล้วนิ ไม่เห็นต้องมีเป้าหมายอะไรเลย อะ! จริงหรือเปล่าครับ นั้นละครับ เป้าหมายของคุณ เพียงแต่ คุณตีความเป้าหมายนั้นออกมาไหม และรู้หรือไม่ว่า อย่างไรถึงจะบรรลุ เป้าหมายของคุณได้ เช่น คำว่า ชีวิตที่มีความสุข ของคุณ คุณต้องมีรายได้เท่าไร ต้องดูแลพ่อแม่ ไหม ต้องดูแลเผื่อจะมีลูกไหม มีคู่แต่งงานไหม ถ้ามี แล้วคุณต้องทำอย่างไร ให้ชีวิตพร้อมกับสิ่งที่เป็นเป้าหมายของคุณ คุณต้องมีรายได้เท่าไร มีรายได้จากทางไหน และท้ายที่สุด หากคุณบอกว่าคุณทำงานประจำแล้ว แล้วในวัยเกษียณอายุ คุณจะอยู่อย่างไร??

                ลืมคิดกันไปไหมครับ เชื่อว่าหลายคนเป็น เพราะความเคยชิน ที่เราทุกคนได้รับมาตั้งแต่เด็ก เรามีคนมาตั้งเป้าหมาย ให้เรามาตลอด ให้เราเรียน ไปตามลำดับ จนถึงทำงาน ซึ่งก็ถือว่าบรรลุ เป้าหมายกันแล้ว เย้! แล้ว.. จบไหม ?

                ไม่จบหนะซิครับ ชีวิตยังดำเนินผ่านไปไม่ถึงครึ่งชีวิตเลย ยังไม่ 30 ปีเลย แต่อนาคต จะเป็นอย่างไร มืดมนเหลือเกิน ใครได้อ่านบทความนี้ ลองทำนะครับ ทำทันทีเลย ตอนนี้ วันนี้ คืนนี้ อะไรคือเป้าหมายของเรา เอาให้ชัดนะครับ แล้วเมื่อได้เป้าหมายแล้ว เราต้องทำอย่างไร จึงจะคว้าเป้าหมายนั้นมาได้ ชีวิตคุณเริ่มต้นแล้วครับ และไม่ใช่เด็กตัวเล็กๆ ที่จะมีคนมาขีดเส้นทางไว้ แต่เป็นตัวคุณเอง ที่จะต้องสร้างสรรค์ นำพาชีวิตของคุณขึ้นมาเอง

                ส่วนบทความนี้ เกี่ยวกับ การเงิน การลงทุนอย่างไร ผมเขียนเพราะ หลังจากผมพยายาม ชักชวน สอนน้องๆ ที่ทำงานด้วยกัน หลายๆ คนให้มาสนใจ การเก็บออม และการลงทุน ผมพบว่า คนเหล่านั้น ขาดความสนใจครับ โอกาสอยู่ตรงหน้าแท้ๆ แต่ปล่อยไป เหมือนกับการทำงานในแต่ละวัน (และเหมือนกับผมที่ผ่านมาหลายปี) ที่ทำไปเรื่อยๆ เพราะ ขาดเป้าหมายนี้ละครับ คิดแค่ บอกแค่ มีงานทำงานวันนี้ ชีวิตมีความสุขแล้ว พอแล้ว.. อา.. อนาคต 

หัดเดินการเงิน

ขอบคุณภาพประกอบจาก https://pixabay.com/

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

บอกว่าให้เงินทำงานให้ แล้ว เงินของแต่ละคนทำงานได้เท่ากันหรือเปล่า

   เชื่อว่าหลายๆ ท่าน คงเคยได้ยิน คำกล่าวที่ว่า เราไม่ควรทำงานเพื่อเงิน แต่ควรให้เงินทำงานให้เรา แปลว่าอะไรละ แปลว่า ถ้าเราทำงาน เพื่อให้ได้เงินมา แล้วเราก็ใช้เงินที่ได้จากการทำงาน ในการใช้จ่ายไปจนหมด เมื่อเงินหมด เราก็ต้องทำงานหาเงิน วนไปเป็น วัฏจักร แบบนี้ นั้นก็คือ เราจะไม่สามารถที่จะหยุดทำงานได้ เพราะถ้าหยุดทำงานเมื่อไรเราจะไม่มีเงินใช้ แล้วเราก็ต้องกลับมาทำงานเหมือนเดิม

                จึงมีแนวคิดว่า เราจะต้องให้เงินมาทำงานให้เราแทน นั้นคือ พอเราทำงานได้เงินมา เราต้องนำเงินที่ได้มานั้น มาหาประโยชน์ จากเงินก้อนนั้น ให้มันชักชวน เงินมาให้กับเราเพิ่มขึ้น ให้เงินทำงาน แทนที่เราจะไปทำงาน ซึ่งถ้าหากว่าเงินที่เราได้มานี้ สามารถทำงานได้มาก มากเท่ากับที่เราทำงานอยู่ เราเองก็จะไม่ต้องทำงานหาเงินแล้ว เพราะเงินจะทำงานให้เราเอง

                ซึ่งการที่จะให้เงินทำงานให้เราได้นั้น แน่นอนเลย อย่างแรกก็คือ เราต้องมีเงินที่จะมาทำงานให้เรา และสอง ที่สำคัญก็คือ เราต้องสอนเงิน บอกเงินของเรา นั้นให้ทำงานให้เราได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเงินของแต่ละคน ทำงานได้ไม่เท่ากัน และ ถ้าจะพูดให้ชัดๆ ก็ต้องบอกว่า เงินของแต่ละคน จะทำงานได้มากน้อยเท่าไร อยู่ที่ความสามารถของเจ้าของเงินนั้นเอง

                มองในมุมที่ทุกคนคุ้นเคย ในการทำงาน คนที่จะทำงานแล้วได้ผลตอบแทนสูง จะเป็นคนที่มีความรู้ และทำงานเก่ง ในมุมของเงิน ก็เช่นกัน แต่เงิน ศึกษาเองไม่ได้ เรียนรู้เองไม่ได้ ดังนั้นคนที่จะต้องเรียนรู้ และจัดสรรเงินให้ไปทำงาน เป็นเรื่องของเจ้าของเงินนั้นเอง
  • เงินของบางคน ไม่เคยทำงานมากมาย ทำงานเพียงแค่ เป็นสิ่งแลกเปลี่ยน กับ อาหาร สิ่งของ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แล้วก็หมดไป
  • เงินของบางคน เจ้าของเงิน อาจจะเพียงแค่ให้เงิน ไปนอนพักผ่อน สบายๆ ในโรงแรมสุดหรู อย่างบัญชีออมทรัพย์ของธนาคาร ซึ่งเงินก็นั่งๆ นอนๆ แล้วสิ้นปีก็ให้ผลตอบแทนกลับมานิดๆ หน่อยๆ
  • เงินของบางคน ทำงาน โดยเจ้าของสั่งให้ไป อยู่ในตลาดหุ้น วิ่งขึ้น วิ่งลง ฝ่ามรสุม อะไรบ้างก็ไม่รู้ เงินบางก้อนวิ่งถูก ก็ให้ผลตอบแทนที่ดีมา บางก้อน วิ่งไม่เก่ง วิ่งแบบไม่มีแบบแผนมีแผน เจ้าของเงินให้แผนที่มาผิดๆ ก็ตกหลุม บาดเจ็บ ล้มตายไปก็มี
  • เงินของบางคน ถูกส่งไปอยู่กับโค้ช อย่างกองทุนรวม ที่นำเงินไปฝึกฝน และจัดสรรเงินไปทำงานให้ แน่นอนว่าต้องเสียค่าจ้างโค้ช ค่าที่พักอาศัย แต่เงินนั้น ก็ถูกจัดสรรให้ไปทำงานในสิ่งที่โค้ชคนนั้นถนัด ซึ่งก็มักจะได้ผลตอบแทนมา ตามที่โค้ชนั้นๆ บอกแนวทางไว้
  • เงินของบางคน ถูกนำไปลงทุน แลกเปลี่ยนกับทรัพย์สิน  แปลงเป็นอสังหาริมทรัพย์ ที่เปิดรับ ชักชวนเงินอื่นๆ มาพักผ่อน มาร่วมแก๊ง กันมากขึ้น
                ใช่ครับ เงินเหมือนกัน  แต่เงินทำงานเองไม่ได้ เงินจะทำงานได้ดี ไม่ดี ไม่มีหรอกครับ เงินที่โง่ ที่ฉลาด เงินเพียงแค่ทำงาน ตามที่เจ้าของเงิน บอกให้มันไปทำเท่านั้น ดังนั้น หากจะอยาก ให้เงินทำงานให้ เงินจะทำงานได้ดี ไม่ดี ก็อยู่ที่เจ้าของเงิน หากเจ้าของเงินเอง ยังไม่รู้จักที่จะทำงาน ไม่มีความรู้ทางการเงิน ก็อย่าคาดหวังว่าเงินจะทำงานให้ได้มากมายเลยครับ เงินมันก็อยากทำงานสบายๆ ตามที่เจ้าของเองทำเหมือนกัน หากเจ้าของเงิน ยังคงใช้ชีวิตสบายๆ ใช้จ่ายเงินเพื่อความพึงพอใจ ในแต่ละวัน โดยไม่เคยคิด ไม่เคยเริ่มศึกษา แล้วลงมือทำ เงินของเค้า ก็จะนอนหลับ พักผ่อนไปพร้อมๆ กับเจ้าของเงินเช่นกันครับ

                จะเริ่มให้เงินทำงาน เจ้าของเงินก็ต้องเริ่ม หัดเดินการเงิน หัดคลาน ไป ก็จะเริ่มเดินกันได้เอง ว่าแต่ คุณเริ่มหัดเดินการเงินหรือยังครับ

ขอบคุณรูปภาพจาก https://kunsuemoney.wordpress.com

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559

รู้ไหมปกติแล้ว กินบุฟเฟ่ต์มื้อนึง ใช้เวลาเท่าไรกัน?

คำถามจากหัวข้อ หลายๆ คนคงบอกว่า ก็ใช้เวลามากที่สุด ที่ร้านให้กินได้นั้นละ เดี๋ยวไม่คุ้ม .. ลืมอะไรไปหรือเปล่าครับ ว่าอันนี้เป็นบทความเกี่ยวกับการเงิน หรือผู้เขียนเอง นึกอยากกินบุฟเฟ่ต์ ให้คุ้มเงิน เลยมาตั้งคำถาม วิเคราะห์ หาวิธีกินให้คุ้มหรือเปล่า ไม่ใช่แล้วครับ และคำตอบจากคำถามนี้  อาจจะทำให้หลายๆ คน จุก จนกินบุฟเฟ่ต์ไม่ลงเลยก็ได้ (บทความนี้ยาวหน่อย ตัวเลขเยอะ อ่านผ่านๆ ก็ได้ แต่อยากให้จับให้ได้ ว่าหากเปลี่ยนวิธีคิดการซื้อของเป็นเวลา แทนเงินตรา จะรู้สึกอะไรไหม)



เพราะคำถามเต็มๆ นั้นคือ คุณ ใช้เวลาในการใช้ชีวิตของคุณไปเท่าไร สำหรับจ่ายค่ากินบุฟเฟ่ต์ 1 มื้อ ใช่ครับ ผมไม่ได้ถามถึงราคา ที่หลายๆ คนยินดีที่จะจ่าย เพื่อกินอาหารสุดโปรด (หรือบางทีก็ไม่ได้โปรดหรอก แค่อยากกินมากๆ ให้จุใจ ให้คุ้ม!) เรามองมาคำนวณกันไหมว่า เราใช้เวลาของชีวิตเราไปเท่าไร เพื่อให้ได้กินบุฟเฟ่ย์ซักหนึ่งมื้อ

ผมสมมุตินะครับว่าคุณเป็นมนุษย์เงินเดือน ที่มีเงินเดือน เดือนละ 20,000 บาท ในหนึ่งขั่วโมง คุณทำรายได้ได้เท่าไรครับ หลายๆ คนคงจะคำนวณโดย บอกว่าถ้าเดือนหนึ่ง ทำงาน 20 วัน วันละ 8 ชั่วโมง ดังนั้น 1 เดือน มีชั่วโมงทำงานเท่ากับ 20x8 = 160 ชั่วโมง ดังนั้นก็จะเท่ากับว่า หนึ่งชั่วโมงที่ทำงาน คุณมีรายได้เท่ากับ 20,000/160 = 125 บาท ก็พอจะ ok ใช่ไหมครับ ไปกินบุฟเฟ่ต์ซักมื้อละ 499 บาท ก็เท่ากับทำงานซัก 4 ชั่วโมง (หรือครึ่งวัน) ก็ได้ละ สำหรับเวลาแห่งความสุข 1 มื้อ

เอาใหม่นะครับ ลองคิดถึงเวลาอันมีค่าของคุณจริงๆ คนทุกคนมีเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่ากันครับ จากเงินเดือน 20,000 บาท เราได้มันมาจริงๆ ไหมครับ ไม่จริงเลย ไม่มีใครได้เงินเข้าบัญชีครบ 20,000 บาท เลยครับ เพราะอย่างแรก จะโดนหักภาษี และประกันสังคมก่อน (อันนี้โชคดีนิดว่า Rate ภาษีใหม่ เลยไม่โดนหัก) หักประกันสังคม 750 บาท เหลือ 19,250 บาท
ไม่ใช่แค่นั้น เมื่อเราต้องออกจากบ้าน เดินทางไปทำงาน เราจะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เราต้องจ่ายออก เพื่อไปทำงานให้ได้รายได้นี้มา เช่น ค่าเดินทาง สมมุติวันละ 140 บาท ทำงาน 20 วันก็ เดือนละ 2,800 บาท

ค่าชุดค่าแต่งตัว เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และหนักที่สุด ค่าเข้าสังคม (อันนี้คนทำงานมีชุดฟอร์มอาจจะประหยัดหน่อย) 2,500 บาท (ผมประหยัดไปไหม?) อธิบายนิดนึง บางคนอาจจะบอกว่า อันนี้ไม่เกี่ยวนิ แต่ถ้าผมถามคุณว่า หากคุณไม่ต้องออกไปทำงาน นอนเล่นอยู่บ้านตลอด 30 วัน คุณจะต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไหมละ

จากตัวอย่างข้างต้น สรุปแล้ว เราได้เหลือเงินเข้ากระเป๋า ที่หัก ค่าใช้จ่ายจากการไปทำงานแล้วจริงๆ เท่ากับ 13,950 บาท

อีกนิด ย้อนมาคุยเรื่องเวลากันอีกทีว่า เวลาในชีวิตที่เราต้องใช้ไปในการมาทำงานหมดไปเท่าไรบ้าง
1. เวลาทำงาน 8 ชั่วโมง + 1 ชั่วโมงพักเที่ยง ซึ่งมันก็เป็นเวลาที่เราต้องเสียไปเพื่อมาทำงานถูกมะ
2. เวลาเดินทาง สมมุติ ใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ในการเดินทางไป และกลับ รวมก็ 3 ชั่วโมง
ดังนั้นจากเวลาที่ทุกคนมีเท่ากัน 24 ชั่วโมง เราต้องแบ่งเวลาในชีวิตเรามา 9 + 3 = 12 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อมาทำงานให้เหลือเงินใช้จ่ายในชีวิต 13,950 บาทต่อเดือน หรือ เท่ากับ 58.125 บาท ต่อชั่วโมง เฮ้ย! เอาแล้วไงครับ สรุปว่าทุกวันนี้ เราต้องยกเวลาใช้ชีวิต ที่เรามี ไปทำงาน ที่ได้เงินมาชั่วโมงเพียงชั่วโมงละ 58.125 บาท ถ้ากินบุฟเฟย์ 499 บาท ก็เท่ากับว่า เราต้องใช้เวลาในชีวิตเราไปทำงานเพื่อให้ได้บุฟเฟ่ย์ 1 มื้อนี้มาเท่ากับ 499/58.125 = 8.59 ประมาณ 8 ชั่วโมงครึ่ง สำหรับค่า บุฟเฟ่ย์ 1 มื้อ!!!!

OK ไหมครับ อร่อยไหมครับ คุ้มค่าไหมครับ กับการทาน 8 ชั่วโมงครึ่ง (หรือทำงานทั่งวัน 1 วันเต็มๆ) เพื่ออาหาร 1 มื้อ ลองคิดกลับกันนะครับ หากเราต้องเป็นคนทำอาหารมื้อนี้เอง ก็เท่ากับเราใช้ทำถึงเวลา 8 ชั่วโมงครึ่ง นั่งเตรียมอาหาร เตรียมทุกอย่าง เพื่อนั่งกินชิวๆ สบายๆ อิ่มๆ กันไป

แน่นอนครับ หากคุณ ไม่ต้องเดินทางไกล หากคุณมีรายต่อเดือน หรือ ทำงานที่มีรายได้ต่อชั่วโมงได้มากกว่านี้ มันก็คงไม่มาก หรือหากคุณมีรายได้ที่เรียกว่า passive income เข้ามา ก็อาจจะมองได้ว่า กินอาหารมื้อนี้ฟรีๆ โดยไม่ต้องทำงาน แต่หากคุณยังเป็นพนักงานประจำที่มีรายได้ทางเดียว และไม่มีเงินเก็บอะไรมากมาย ลองเปลี่ยนมุมมอง มาหัดเดินทางการเงิน กันนิดนึงนะครับ

หัดเดินการเงิน

ขอบคุณ ที่มี idea การคำนวณชั่วโมงทำงานแบบนี้จาก http://www.startyourway.com/

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ถ้ามีขนมสุดอร่อยวางอยู่ตรงหน้า เราอดทนไม่กินได้ไหม?

     ความอดทนรอคอยอะไรซักอย่าง มีผลต่อความสำเร็จในชีวิตของคนเราหรือเปล่านะ ลองย้อนๆๆๆ กรอเทป อะ.. บงบอกอายุผู้เขียนบทความ ยุคดิจิตอลแบบนี้เอาเป็นอะไรดีละ เลือนแถบถอยหลังพอได้ไหม 55 ย้อนอดีตกลับไปว่า เราเคยพลาดไม่ได้อะไร เพราะด่วนตัดสินใจอะไรไปบ้างหรือเปล่า ไม่ยอมรออะไรหรือเปล่านะ

     บทความนี้ผมเขียนขึ้นเพราะบังเอิญ ได้อ่านบทความเกี่ยวกับการทดลองที่ถูกตั้งชื่อว่า ‘Marshmallow Test’ หรือ การทดสอบมาร์ชแมลโลว์ การทดลองนี้ เป็นผลงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ Walter Mischel ณ. ขณะเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (Stanford University) การวิจัยนี้ ได้ทำการทดลองกับเด็ก โดยให้เด็กนั่งอยู่ในคนเดียวในห้อง พร้อมกับขนมมาร์ชแมลโลว์ 1 ชิ้น (หรือขนมที่เด็กคนนั้นชอบ) โดยตกลงกับเด็กว่า จะได้ขนมนั้นเพิ่มอีก 1 ชิ้น หลังจากผู้วิจัยกลับมาที่ห้องอีกครั้งในอีกประมาณ 15 นาทีข้างหน้า ถ้าขนมชิ้นนี้ยังไม่ถูกกินไปก่อน โดยมีการตั้งกล้องจับภาพไว้ ซึ่งก็มีเด็กที่อดทนไม่ได้ หยิบกินทันที เด็กที่รอได้ซักพัก เริ่มปิดตา เริ่มเลียขนม และเด็กที่อดทนได้ (ฮันแน่ ลองสมมุติกับตัวเองกันบ้างไหมครับ ว่าเป็นเราจะทำไง บางคนอาจจะเป็นส้มตำ เป็นหมูปิ้ง เป็นไก่ย่าง เป็นพิซซ่า ก็แล้วแต่นะครับ) โดยการวิจัยนี้ มีการติดตามกลุ่มตัวอย่างเด็กที่ได้ทดสอบ ในอีก 10 – 20 ปี หลังจากนั้น พบว่าเด็กที่ มีทักษะ การรอคอยที่ดี (อดทนที่จะไม่กินขนม จนได้เพิ่มอีก 1 ชิ้นได้) เมื่อเติบโตขึ้นนั้น มีระดับสมองและสติปัญญาทางอารมณ์ ที่ดี และมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จดีทีเดียว

     ผมเอาการวิจัยนี้มาเขียนถึงทำไม มันเกี่ยวกับการเงินอย่างไร นึกออกไหมครับ ทุกวันนี้ ผู้ใหญ่หลายๆ คน ได้ผ่านการทดลองแบบนี้มาไม่รู้กี่สิบ กี่พันครั้งแล้วครับ กับการรอคอย เก็บเงินที่จะซื้อ Smartphone เครื่องใหม่ ซื้อชุดใหม่ ซื้อรถคันใหม่ ซื้อบ้านหลังใหม่ หากิ๊กคนใหม่ (เฮ้ย!.. ไม่ใช่ละ) แล้วมีผลอย่างไรครับ บางคนอดทนรอไม่ไหว ก็รูดบัตรผ่อนจ่ายซื้อ (เป็นหนี้) บางคนรอได้ ก็เก็บเงิน เอาไว้จนพอแล้วค่อยซื้อ บางคนเก็บเงิน เอาเงินไปลงทุน แล้วเอาผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนมาซื้อ

     ใช่ครับ เรื่องของการเก็บเงิน และการลงทุน การมีทักษะในการอดทนรอนั้น สำคัญมาก และที่สำคัญกว่านั้น การลงทุน จำเป็นที่เราจะต้องอดทนในหลายๆ เรื่อง ทั้งอดทนที่จะไม่ใช้จ่าย เพื่อเก็บออม อดทนที่จะศึกษาวิธีการลงทุน เพื่อให้เงินที่เก็บนั้นงอกเงย (ซึ่งช่วงที่ศึกษาก็ไม่ได้อะไรกลับมาเลย จะหักขนมชิมซักนิดก็ไม่ได้) หากคุณไม่มีทักษะในการอดทนรอคอยอะไรซักอย่าง ความสำเร็จในการลงทุน หรือการทำงานนั้น ย่อมเกิดขึ้นได้ยากมากๆ ครับ

     หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้ ก็ลองหยุดตั้งสติกันนิดนะครับ การจะประสบความสำเร็จด้านการเงินได้นั้น เราต้องมีเป้าหมายละ ว่าเราอยากจะได้อะไร อยากมีเงินพอใช้เมื่อเกษียณ อยากมีเงินพอที่จะใช้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องทำงานเต็มเวลา หรืออยากจะมีเงินทอง ร่ำรวย หากเราไม่มีความอดทนเพียงพอ เราอาจะไปหวังรวยทางลัด เช่น ซื้อลอตเตอรี่ เล่นการพนัน ค้าขายอะไรที่ผิดกฎหมาย หรือ เราอาจจะเพียงแค่ทำงานหาเงินใช้จ่ายไป ให้เพียงพอไปวันๆ โดยไม่ได้อดทนเก็บเงิน หรือ ลงทุนในการศึกษา เพื่อพัฒนาตัวเอง หรืออาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง

    สำหรับคนที่คิดว่าตัวเองอดทนหาช่องทางทำกินดีๆ ได้แล้ว ก็ลุยเลยครับ แต่สำหรับใครที่ยังไม่ได้เริ่ม หรือ ยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ก็เริ่มเก็บออม และเริ่มอดทน ศึกษา หัดเดินการเงิน ไปด้วยกันครับ การอดทนรอคอยความสำเร็จนี้ จะพาคุณประสบความสำเร็จในชีวิตได้แน่นอน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งครับ

หมายเหตุ ที่มารูปภาพ http://sites.psu.edu/dps16/2016/02/04/the-marshmallow-test/
ข้อมูล Marshmallow Test  http://jamesclear.com/delayed-gratification