วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ลงทุนว่าเสี่ยงสูง ไม่ลงทุนเลยเสี่ยงกว่า!

                 ไม่เอา ยังไม่พร้อม รับความเสี่ยงไม่ไหว ยังต้องมีรายการที่ต้องใช้จ่ายอีกเยอะ ยังต้องเตรียมเงินไว้ให้ที่บ้าน ยังต้องซื้อของอีกเยอะ กลัวขาดทุน ยังไม่มีความรู้ในการลงทุน อีกหลากหลายเหตุผล ที่คนที่ยังไม่ได้เริ่มลงทุน พูดขึ้นมา เมื่อมีคนถามว่า มาศึกษา มาลงทุนกันไหม?

                เหตุผลเหล่านั้นจริงไหม โดยเฉพาะที่บอกว่ารับความเสี่ยงไม่ไหว แล้วรู้หรือไม่ว่า ไม่ลงทุน เสี่ยงกว่า ใช่ครับ ชีวิตคนเราทุกคน เจอกับความเสี่ยงตลอดเวลาครับ ลุกขึ้นจากเตียง ก็เสี่ยงแล้วว่าจะก้าวขาลงจากเตียงผิด เดี๋ยวจะซวยไปทั้งวัน (เออ.. จริงปะ) เดินลงบันได ก็เสี่ยงที่จะตกบันได กินข้าว ก็เสี่ยงที่จะโดนก้างปลาทิ่มคอ ใครอ่านมาถึงตรงนี้คง คิด คนเขียนมันบ้า วิตกจริต หรือเปล่า... เปล่านะครับ แต่หากคุณคิดอย่างนั้น ผมจะย้อนกลับไปว่า แล้วคุณละ ทำไมคิดว่าการลงทุนมันเสี่ยง

หาเงิน โดยการทำงาน ไม่เสี่ยง???

                ใช่ครับ การที่คุณทำงาน ก็ต้องออกเดินทาง คือ ไม่ได้นั่งเฉยๆ แน่ๆ มันก็มีความเสี่ยงทั้งนั้นละ แต่มันเป็นความเสี่ยงที่เรา รู้สึกว่า มันมีความเสี่ยงที่ต่ำ มีความเสี่ยงที่เราสามารถหาอะไรป้องกันได้ 

                การลงทุนก็เช่นกันครับ หากเราเข้าใจ ศึกษาเราก็ได้เดินเข้าไปลงทุนได้ โดยไม่พะวงกังวลว่ามันเสี่ยง เปรียบเสมือนกับที่ทุกวันนี้ คุณตื่นนอน ออกจากบ้าน ไปนั่งมอเตอร์ไซต์รับจ้าง (สวมหมวกกันน็อกไหม? << ไมไม่กลัวเสี่ยง) นั่งรถ เดินขึ้นตึก ขึ้นลิฟท์ ไปทำงาน เพื่อจุดหมายคือ สร้างรายได้จากการทำงาน แล้วทำไม เราจะทำแบบเดียวกัน โดยมองข้ามความเสี่ยง ความกังวลเหล่านั้นไป เพื่อนำเงินที่เราเสี่ยงชีวิต ไปหามา มาก่อให้เกิดรายได้ให้กับเราบ้าง โดยควบคุมความเสี่ยงเหล่านั้น โดยการเข้าใจ

                แล้วที่ผมตั้งหัวข้อว่า ไม่ลงทุน เสี่ยงกว่า คืออะไร ก็คือ หากเราศึกษา วางแผนการเงินของเรา เข้าใจการลงทุน เราจะเข้าใจ ว่าเราสามารถบริหารเงินของเราเป็นอย่างไร สถานะปัจจุบันเป็นอย่างไร อนาคตเราจะเป็นอย่างไร แล้วรายได้เราเพียงพอไหม ที่จะมีอนาคต อย่างที่เราคาดหวังไว้ (หรือยัง ไม่เคยคิด?) ถ้ายังไม่เคย ผมแจ้งความเสี่ยง ที่คุณอาจจะยังไม่เคยคิดไว้นะครับ
1.       เมื่อเจ็บป่วยหนักๆ มีเงินเพียงพอที่จะดูแลรักษาตัวไหม
2.       หากเกษียณแล้ว จะอยู่อย่างไรมีรายได้จากทางไหน
3.       ถ้ามีเงินที่เก็บออม แล้วออมไว้ในธนาคารเงินฝากออมทรัพย์ หรือ ฝากประจำ มูลค่าของเงินที่มีในวันนี้ จะมีมูลค่าเหลือเท่าไร ในอนาคต

การศึกษาการเงิน การลงทุน จะช่วยให้คุณรู้จักรูปแบบการลงทุน และผลตอบแทนต่างๆ แล้วคุณจะรู้ว่า คุณจะจัดการตัดความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้อย่างไร ไม่ต่างจาก การที่คุณเดินทางมาทำงาน ที่คุณไม่ได้รู้สึกว่ามันเสี่ยงอะไร และต้องลงทุนแบบไหน จึงจะตรงกับความต้องการของคุณ

เริ่มศึกษาการเงิน การลงทุน หัดเดินไปพร้อมๆ กันครับ

หัดเดินการเงิน


หมายเหตุ ภาพประกอบเอามาจาก http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9520000161674

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เริ่มออมและลงทุนเมื่อไรดี ออมเงินให้ได้เยอะๆ อย่างเดียวพอไหม?

      ผมเขียนบทความนี้ เพราะเพิ่งจะทำตาราง ผลตอบแทนจากเงินสะสมเดือนละ 1,000 บาท เพื่อให้คนรู้จักดู ความวิเศษของดอกเบี้ยทบต้น ซึ่งจะเห็นความมหัศจรรย์ของมันเมื่อ มีเวลานานเพียงพอ ตามตารางด้านล้างนี้ครับ


ตารางนี้จะเห็นความแตกต่างกัน 2 อย่างนะครับ

อย่างที่ 1 คือ ผลตอบแทนที่ต่างกัน จากระยะเวลาที่ต่างกัน
 ถ้าดูในตาราง ใน column ที่ผลตอบแทน 10% จะพบว่า การเก็บออมแล้วลงทุนในระยะเวลา 10 ปี กับ 30 ปี จะได้ยอดเงินรวมต่างกันถึง 1,632,964 – 74,079 = 1,558,885 จากเงินเราเองที่ออมต่างกันเพียง 240,000 บาท

อย่างที่ 2 คือ ผลตอบแทน ที่ต่างกัน จากอัตราผลตอบแทนที่ต่างกัน
                ถ้าดูในตาราง จะพบว่า ถึงออมแล้วลงทุนเป็นระยะเวลานาน 30 ปี แต่เลือกออมไว้ในที่ที่ได้ผลตอบแทน ที่ไม่ดีพอ ก็ไม่มีประโยชน์เท่าไร เช่น ออมในบัญชีเงินฝากออกทรัพย์ปกติ ที่ดอกเบี้ย 0.50% เป็นเวลา 30 ปี ถึงจะใช้เวลา 30 ปี ได้ผลตอบแทนเพียง 27,430 บาท แต่หากลงทุนที่ได้ผลตอบแทน 10% เพียง 10 ปี ได้ผลตอบแทน 74,079 มากกว่าถึง 74,079 – 27,430 = 46,649 บาท และใช้เงินลงทุนน้อยต่างกันถึง 3 เท่า

                จะเห็นว่า การที่เราจะได้ผลตอบแทนที่ดี นอกจากควรจะเริ่มออมเงินได้เร็ว (หรือนานเพียงพอ) แล้ว ก็ต้องรู้จักว่าจะเอาเงินไปไว้ที่ไหน ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีด้วยหรืออีกนัยหนึ่ง ก็ต้องรู้จักหาความรู้ในการลงทุนบ้าง ไม่งั้น ถึงเก็บเงิน แต่ไปลงทุนมั่วๆ แทนที่จะได้ผลตอบแทนที่ดี เกิดกลายเป็นขาดทุนขึ้นมาแทน จะแย่เข้าไปใหญ่ เริ่มออมเงินและเริ่มหาความรู้ทางการเงิน หัดเดินทางการเงินไปพร้อมๆ กันนะครับ

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

พร้อมหรือยัง กับ พร้อมเพย์ (Prompt Pay)

                วันนี้ที่เขียนบทความนี้ เพราะเป็นวันแรก ที่เปิดให้ธนาคารที่พร้อม เริ่มรับลงทะเบียน พร้อมเพย์ (Prompt Pay) ได้เป็นวันแรก (1 ก.ค. 2559) ก็เลยขอ เขียนบทความไว้ร่วมประวัติศาสตร์ ก้าวหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงระบบการเงินของประเทศไทยไว้ซักหน่อย
                เขียนหัวไว้ซะดูยิ่งใหญ่ แต่เอาจริงๆ วันนี้ยังไม่ได้มีผลอะไรเลยครับ การเปิดลงทะเบียน โดยความเห็นผม ก็ยังมีการประชาสัมพันธ์ที่อ่อนไป คือ เน้นไปที่แจ้งให้ทราบว่า เปิดให้ลงทะเบียนแล้ว แต่กลับไม่เน้นว่า ลงทะเบียนไปเพื่ออะไร ซึ่งน่าจะสำคัญกว่ามาก เพราะคนเราจะสนใจ ก็ต่อเมื่อมีผลกระทบ หรือมีผลประโยชน์อะไรกับตัวเรา



                แต่วันนี้ผมก็เจอข่าวที่น่าจะสนใจ อย่างหนึ่ง ที่เป็นแนวคิดที่ช่วย ทำให้ผมมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ว่ารัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเชิญชวน คนไทย มาใช้จ่ายผ่าน พร้อมเพย์ ได้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร แรกๆ ผมก็คิดว่า อาจจะมีผลประโยชน์ทางภาษี เช่น นำรายการใช้จ่าย มาเป็นค่าลดหย่อนได้ หรือ มีการคืน Vat ให้ แต่พอเห็นข่าวนี้แล้วก็ รู้สึกว่า ผมยังอ่อนด้อยนัก เมื่อพบข่าวว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ในฐานะประธานประชุมคณะกรรมการระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเพย์เมนต์ กล่าวว่าคณะกรรมการพิจารณาแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการและประชาชนมาใช้อีเพย์เมนต์ โดยการจับแจกรางวัลเดือนละ 7 ล้านบาท เป็นเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนม.ค. 2560 (ที่มา http://www.khaosodonline.com/view_newsonline.php?newsid=1467201090)”

                มันช่างเป็นแรงจูงใจ สำหรับคนไทย ทั่วประเทศจริงๆ เลยครับ จำได้ว่าตอนเด็กๆ เคยได้ยิน พ่อเล่าให้ฟังว่า เมืองไทยเคยจ้าง นักการเงินจากต่างประเทศ มาศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยออมเงิน สุดท้ายได้ข้อสรุปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่าง สลากออมสิน สลาก ธกส.

                หนนี้จะสร้างแรงจูงใจ ให้มาใช้ ก็ใช้วิธีการชิงโชค ซึ่งผมก็เชื่อนะว่า มีโอกาสประสบความสำเร็จ ได้มากทีเดียว ดูง่ายๆ ว่าคนไทยเรา ทุ่มเทแรงใจ หวังร่ำรวย โชคดี มีเงินมากองทับกันขนาดไหน ก็ดูความสำเร็จของธุรกิจ ขายชาน้ำหวาน ก็ได้

                ตอนแรกผมคาดหวังว่า การเกิดพร้อมเพย์ จะเป็นโอกาส ช่วยให้คนเราต้องปรับตัว ศึกษา แยกบัญชีใช้จ่าย แยกเงินเก็บ ทำความเข้าใจเรื่องการเงิน การใช้จ่ายกันมากขึ้น แต่พอเห็นความคิดนี้มาก็นะ ...

                ลองพิจารณากันดูแล้วกันนะครับ ว่าเราจะเป็นคนที่พร้อม ที่ใช้พร้อมเพย์ เพื่อเพื่อบริหารการเงิน บัญชีการเงินของเราให้ดีขึ้น สะดวกขึ้น ได้ผลตอบแทนมากขึ้น หรือ พร้อมเป็นนักพนัน นักเสี่ยงโชค เพื่อเพิ่มช่องทางเสี่ยงโชค นอกจากจะลุ้นหวยรัฐบาล เดือนละ 2 ครั้ง ก็มาลุ้นจาก พร้อมเพย์ เพิ่มเติมอีก แล้วเราก็คงจะยังเห็นข่าว ลุ้นโชคเสี่ยงทาย กราบไหว้สิ่งประหลาด กันทุกต้นเดือน บนหน้าหนังสือพิมพ์เหมือนเดิม (หรือมากกว่าเดิม)

                ใครที่หลงมาอ่านบทความนี้ มาหัดเดิน ศึกษาทางการเงินกันเถอะนะครับ แล้วคุณจะสามารถสร้างโชคดีทางการเงิน ที่ให้ผลตอบแทน ที่จะอยู่กับชีวิตคุณได้ โดยไม่ต้องคอยโชคและวาสนา ไปไหว้วาน สิ่งศักดิ์สิทธิ ขูดต้นไม้ ที่ไหนมาหาคุณ..